เรื่องเล่า จากร้านขายอะไหล่รถยนต์
“ ไม่เจอกันนานพี่ยังเหมือนเดิมเลยค่ะ ”
“ ที่ว่าเหมือนเดิมคือตัวใหญ่เหมือนเดิมใช่มั้ย ฮ่าๆ” ว่าไปนั่น แต่ใช่จริงๆแหละ เห็นแต่ไกลก็ว่าต้องใช่แน่ๆ ฮ่าๆ
“ ไปไงมาไง กลับไปทำงานที่บ้านได้ละคะเนียะ? ”
เครปยังไม่ทันเข้าปาก เราก็เข้าเรื่องเลย เพราะคาดว่าจะเป็นมหากาพย์คัมภีร์วิถียุทธยืดยาวสามร้อยเล่มเกวียน
“ค่อยๆเล่าดีมั้ย จะเริ่มยังไงดีละเนียะ ขอแบบเป็นคำถามเล็กๆดีกว่า ”
“ที่บ้านพี่ทำอะไรนะคะ”
“ขายอะไหล่รถยนต์ ช่วงล่างอะไรพวกนี้ คือนำเข้ามาแล้วก็ขาย มีส่วนของหน้าร้านที่วรจักร แล้วก็มีส่วนของโรงงานที่ผลิตบางชิ้นส่วนให้กับรถยนต์ด้วย”
“เดี๋ยวๆ คือพี่เรียนดนตรีไม่ใช่หรอคะ จำได้ ป.ตรี เอกดนตรีเลย กลับมาขายอะไหล่ได้ไงคะเนียะ”
“ก็ต้องบอกก่อนว่าเรียนดนตรีมาเพราะชอบ ตอนแรกที่เลือกเรียนดนตรีเพราะเหมือนตอนนั้นธุรกิจที่บ้านไม่ค่อยมั่นคง ตอนที่เลือกเรียนคุณพ่อคุณแม่ก็ให้เลือกเองเลย ว่าอยากเรียนอะไร เอาที่ชอบ ไม่ต้องเรียนตรงสายงานที่บ้านก็ได้ เพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นยังไง ถ้าเราเรียนที่เราชอบ อย่างน้อยจบมาก็ยังมีทางหางานทำได้
พอเรียนจบมา ก็ทำงานสายดนตรี ทำงานเบื้องหลังพวกประกวดนักร้องอะไรต่างๆ พี่ก็ชอบนะ เป็นสิ่งที่เราทำได้ดี เป็นสิ่งที่เราถนัด”
“แล้วตอนนี้เลิกทำงานดนตรีแล้วหรือคะ”
“ไม่ได้เลิก แค่ลดลง แล้วกลับมาช่วยคุณแม่ที่บ้าน ธุรกิจพี่เป็นธุรกิจครอบครัว เป็นกงสี อยู่กันหลายครอบครัว แต่รุ่นที่ 3 นี่มีแค่ 2 คนเองที่กลับมาทำต่อ ที่เหลือไปข้างนอกหมด”
“อะไรทำให้พี่ตัดสินใจกลับมารับช่วงที่บ้านต่อ แล้วลดอาชีพที่ตัวเองถนัดลงคะ ทั้งๆที่รุ่น 3 ของครอบครัวพี่นี่ก็มีตั้ง 16-17 คน”
“เพราะพี่ดูแล้วว่า 16-17 คนนี่ ไม่มีใครมีแนวโน้มที่จะกลับมาเลยน่ะสิ อากงเป็นคนก่อตั้งธุรกิจนี้ขึ้นมา เลี้ยงลูกๆรุ่น 2 ได้ตั้งหลายครอบครัว พอมารุ่น 3 กลับไม่มีใครสนใจเลย พี่ก็เลยคิดว่า โอเค พี่กลับมารับหน้าร้านเองก็ได้ กับลูกพี่ลูกน้องอีกคน ที่รับโรงงานไป”
“เข้ามาทำงานนานรึยังคะ แล้วตอนมาตอนแรก เริ่มจากอะไรก่อน”
“ก็ซักพักแล้วนะ คือจบมาไปทำงานดนตรีก่อนหลายปี แล้วค่อยกลับมาที่นี่ ตอนแรกเข้ามาก็มีคนจัดโปรแกรมให้นะ ว่าต้องฝึกงานที่แผนกไหนบ้าง เรื่องไหนบ้าง เอ้อ ตอนแรกเข้ามาต้องสอบด้วยนะ สอบกับคณะกรรมการครอบครัว แล้วก็ผู้บริหารมืออาชีพที่ครอบครัวเราจ้างมาดูแล”
“แค่กลับมาทำงานที่บ้านนี่ต้องสอบด้วยหรอคะ สอบอะไรบ้าง คุณพ่อช่วยไหม”
“ก็ทัศนคติ เค้าสอบถามว่าเรามองอนาคตของธุรกิจนี้ว่ายังไง ตั้งแต่จะพัฒนาไปทางไหน เห็นอะไรควรปรับปรุง เห็นอะไรควรเปลี่ยนแปลง ให้นำเสนอไอเดีย ความคิดเราออกมา เค้าก็จะไปพิจารณาว่าเราควรมารับงานไหม ส่วนคุณพ่อช่วยมั้ย ไม่ช่วย ฮ่าๆ แต่นั่งเงียบๆ ไม่ได้ถามอะไร”
“พอสอบเสร็จ ก็เข้ามาฝึกงานก่อน ตามแผนกต่างๆนี่ใช้เวลานานมั้ยคะ”
“ที่จริงตามโปรแกรมก็ปีกว่า ถึง 2 ปี แต่ว่าพอดีมี Conflict กับผู้ใหญ่ ญาติๆที่เป็นผู้บริหาร เค้าเลยไม่ให้พี่ไปฝึกละ ฝึกไปได้ 2 แผนกเอง ให้ลงไปทำงานเลย” (โห โดนตัดกำลัง)
“มี Conflict นี่คือตั้งแต่รุ่นพ่อแม่หรือเป็นที่ตัวเราคะ”
“ตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ก็มี แต่สำหรับพี่นี่คิดว่าน่าจะเป็นที่ตัวเรามากกว่านะ ไม่รู้เหมือนกัน พี่ก็ไม่ค่อยเข้าใจผู้ใหญ่ แต่กับรุ่นพี่เอง รุ่น 3 นี่ทุกคนคุยกันได้หมด ไม่ได้มี Conflict อะไรเลย ยังไปเที่ยวเล่นกันได้ตามปกติ แล้วพ่อพี่ทำอยู่ฝั่งโรงงาน ก็เลยไม่ได้ทำงานด้วยกันเลย”
“ลงไปทำงานเลยโดยไม่มีประสบการณ์แถมไม่ได้เรียนมาโดยตรงนี่โหดใช่เล่นเลยนะคะเนียะ”
“ใช่ พี่นี่งงมาก ไปตามเซลล์ขายอะไหล่รถ ก็ไปจดออร์เดอร์ที่ร้านลูกค้า ไปครั้งแรกนี่สนุกมาก พี่ก็คิดว่าเค้าจะสั่งแบบ แหนบโตโยต้า วีโก้ 2 อัน เพลาล้อหน้าอีซูซุ ดีแมกซ์ 1 อัน อะไรแบบนี้ใช่มะ แต่ไม่ใช่
เซลล์เจอหน้าลุงเจ้าของร้านปุ๊ป ‘เอ้า AC13492 1 อัน DFLKN4u834 4 อัน เอาพรุ่งนี้’ แค่เนี๊ยะ จบ อย่างกับภาษาต่างดาวเลย เท่านั้นไม่พอนะ มีโทรมาสั่ง พูดจบก้อวางสาย กริ๊ก เอ๋อมากตอนนั้น
คือลำพังพี่ ซึ่งไม่เคยเล่นรถ ไม่รู้รุ่นรถ เห็นรถก็มี 4 ล้อ 6 ล้อ ทรงก็เหมือนๆกัน ไม่เคยรู้อะไรเลย จำรุ่นรถก็ยากแล้วนะ มาเจอแบบนี้นี่ทำการบ้านเยอะมากเลย เตรียมตัวเยอะมาก แต่พี่โชคดีนะ ที่พนักงานเก่าๆของพี่ยังเอ็นดู เห็นเราก็ช่วยสอนให้บ้าง แอบสอนบ้าง ก็ไปเล่นกับเค้า กินกับเค้า เค้าก็เอ็นดูเหมือนลูกหลาน พี่ได้ความรู้มาจากตรงนั้นแหละ”
“แล้วพวกพนักงานเก่าๆเค้ายอมรับพี่เลยหรอคะ”
“บางคนก็ยอมรับเลยนะ เอ็นดู เห็นเรามาตั้งแต่เล็กๆ แต่บางคนก็ไม่ เห็นว่าเราจบดนตรี ไม่ได้เรียนมาโดยตรง แล้วคนละสายงานเลย ปริญญาโทก็ไม่ได้เรียน เราก็มีเรื่องที่ไม่รู้หลายเรื่องมากๆ ก็เลยต้องพยายามเรียนรู้ ต้องพิสูจน์ให้เค้าเห็นว่าเราทำได้นะ เราเข้าใจ เราพยายามเรียนรู้นะ อะไรแบบนี้ ตอนหลังก็เลยค่อยๆได้รับการยอมรับมากขึ้น”
“พี่มาทำงานที่ไม่ถนัด ไม่ชอบ ไม่อึดอัดหรอคะ”
“จะว่าไม่ชอบก็คงไม่ใช่ เมื่อก่อนพี่ชอบนะ ตอนเด็กๆ ก็เหมือนเด็กผู้ชายทั่วๆไป ชอบเครื่องยนต์กลไก ชอบรถ แต่ดนตรีนี่ก็อย่างที่บอกว่า เลือกเผื่อเป็นอาชีพสำรอง พอเดินไปทางนั้นแล้ว เลยกลับมาทางนี้ลำบาก ถ้าถามว่าอึดอัดมั้ย ไม่เลย เหมือนได้กลับมาอยู่ในความฝันวัยเด็ก มีอะไรให้เรียนรู้หลายๆอย่าง”
“พี่คิดว่าอะไรคือปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในการรับช่วงกิจการของคะ”
“เรื่องไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่เท่าที่ควร อาจจะเป็นเฉพาะของพี่มั้ง เพราะว่าดูเหมือนผู้ใหญ่จะไม่ค่อยชอบพี่นิดหน่อย บางทีอาจจะเป็นปัญหาเรื่องการสื่อสารก็ได้ สื่อสารไม่ค่อยเข้าใจ อาจจะทำให้เกิดการเข้าใจผิดได้ง่าย พี่เคยคุยกับลูกพี่ลูกน้องที่ทำโรงงาน ฝั่งโน้นเค้าหลายคน คือมีลุงๆอาๆพี่น้องพ่อหลายคน เค้าก็ช่วยกันสอน ช่วยกันชี้แนะ เจอเคสแบบนี้แก้ปัญหายังไง แบบไหนดีกว่า แต่กับพี่ที่หน้าร้านนี่แย่เลย ไม่มีคำชี้แนะใดๆ เราก็ต้องขวนขวายด้วยตัวเองแหละ บางทีก็แอบคิดเหมือนกันว่านี่อาจจะเป็นวิธีการสอนงานของเค้ารึเปล่า”
“ครอบครัวพี่เป็นกงสีใหญ่หลายครอบครัว มีการจัดการภายในยังไงคะ”
“มีธรรมนูญครอบครัวจริงจังเลยล่ะ พอหลายครอบครัวก็เลยมีการจ้างให้ทนายเขียนขึ้นมา คนที่จะมาทำงานในกงสีจะได้รับส่วนแบ่งยังไง มีหุ้นยังไง มีกฏยังไง ผู้ใหญ่ทุกคนก็พยายามทำให้ครอบครัวอยู่อย่างมีความสุขเท่าเทียมกันทุกคน แล้วก็ยังอยากให้บริษัทเป็นของครอบครัวอยู่ เลยมีกฏห้ามขายหุ้นเกินกี่% ด้วย แล้วก็มีกฏสำหรับคนที่ไม่ได้มาช่วยงานในกงสี ว่าจะได้สวัสดิการอะไรบ้างด้วย
เมื่อก่อนอางกงซื้อบ้านให้อยู่รวมกัน ในที่ดินผืนเดียวรั้วเดียว มีบ้าน 6 หลังแหนะ แต่ตอนนี้ก็เริ่มแยกย้ายกันออกมาอยู่ข้างนอกแล้ว หลายๆอย่างก็เลยต้องมีการปรับเปลี่ยน เลยมมีธรรมนูญครอบครัวนี้ขึ้นมา เป็นกฏที่ทุกคนเข้าใจตรงกัน ใช้ร่วมกัน พี่ว่าดีนะ แก้ปัญหาไปได้เยอะเลย ไม่ต้องมานั่งเถียงกันเอง”
“พี่มองอนาคตบริษัทยังไงคะ อยากเป็น MD บริหารเองเลยมั้ย”
“ไม่อ่ะ เพราะว่าบริษัทพี่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ก็คิดว่าควรจะจ้างผู้เชี่ยวชาญมาบริหารดีกว่า เราแล้วก็คอย monitor อยู่ห่างๆอีกที อย่างตอนนี้ก็มี CEO จากข้างนอกที่มีประสบการณ์มาช่วยบริหาร มุมมองบางอย่างเค้าแนะนำได้ดีนะ บางทีคนในเองก็มองข้ามบางจุดไป ให้คนนอกมาช่วยจะเป็นประโยชน์กับบริษัทฯส่วนรวมมากกว่า” และนี่ก็คืออีกหนึ่งมุมมองของทายาทรุ่นที่สาม แห่งอาณาจักรอะไหล่รถยนต์ใจกลางกรุงเทพมหานคร
………………
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ “ฉันนี่แหละลูกเถ้าแก่”
ข้อคิดและบทสรุปจากการสัมภาษณ์ทายาทธุรกิจ โดย พราวพร