ความหมายของการสอบบัญชี
สมาคมการบัญชีอเมริกัน (The American Accounting Association: AAA) ได้ให้คำนิยามของการสอบบัญชี Auditing ไว้ว่า
การสอบบัญชี คือ กระบวนการของการรวบรวมและการประเมินหลักฐานเกี่ยวกับสารสนเทศเพื่อระบุและรายงานเกี่ยวกับระดับความสอดคล้องต้องกันของสารสนเทศนั้นกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้และการสื่อสารผลลัพธ์ให้ผู้ใช้ที่สนใจ การสอบบัญชีควรปฏิบัติโดยบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและมีความเป็นอิสระ จากคำนิยามข้างต้น การสอบบัญชีเกี่ยวข้องกับเรื่องต่อไปนี้
1. การรวบรวมและการประเมินหลักฐาน (Accumulating and Evaluating Evidence) หลักฐานการสอบบัญชี หมายถึง ข้อมูลหรือข้อเท็จริงใดๆ ที่ผู้สอบบัญชีได้รับ และใช้เป็นเกณฑ์ในการสรุปว่าข้อมูลหรือสารสนเทศที่ตรวจสอบนั้นแสดงไว้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ผู้สอบบัญชีมีหน้าที่รวบรวมหลักฐานการสอบบัญชีให้เพียงพอและเหมาะสม โดยใช้วิธีการตรวจสอบและประเมินหลักฐานการสอบบัญชีเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการรายงาน
2. สารสนเทศและเกณฑ์ที่กำหนดไว้ (Information and Established Criteria) สารสนเทศที่ตรวจสอบควรอยู่ในรูปแบบที่สามารถพิสูจน์ได้ (Verifiable Form) และมีเกณฑ์ หรือมาตรฐานที่ผู้สอบบัญชีสามารถนำมาใช้ประเมินสารสนเทศดังกล่าวได้ เกณฑ์ที่ผู้สอบบัญชีใช้ในการประเมินขึ้นอยู่กับลักษณะของสารสนเทศที่ตรวจสอบ เช่น การตรวจสอบงบการเงินจะใช้เกณฑ์ที่เรียกว่า "มาตรฐานการรายงานทางการเงิน (Financial Reporting Standards: FRS)" แต่ถ้าเป็นการตรวจสอบภาษีอากรจะใช้เกณฑ์ที่เรียกว่า "ประมวลรัษฎากร" (หรือกฎหมายภาษีอากร) เป็นต้น
มาตรฐานการรายงานทางการเงิน (FRS) หมายถึง มาตรฐานและการตีความที่ออกโดยคณะกรรมการและมาตราฐานการบัญชี ซึ่งประกอบด้วยมาตรฐานการรายงานทางการเงิน และมาตรฐานการบัญชีการตีความมาตรฐานการรายงานทางการเงินและการตีความมาตรฐานการบัญชีแต่ละแต่ละเรื่องเดิมผู้สอบบัญชีเรียกมาตรฐานการรายงานทางการเงินว่า"หลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป" (Generally Accepted Accounting Principles : GAAP) ส่วนนักบัญชีนั้นเดิมเรียกมาตรฐานการรายงานทางการเงินว่า "มาตรฐานการบัญชี" (Accounting Standards : AS)
3. บุคคลที่มีความรู้ความสามารถและความเป็นอิสระ (Competent, Independent Person) ผู้ประกอบวิชาชีพสอบบัญชี (หรือผู้สอบบัญชี) ควรมีความรู้ ความสามารถ และความชำนาญในวิชาชีพเป็นพิเศษเช่นเดียวกับวิชาชีพอิสระอื่น ๆ (เช่น แพทย์ ทนายความ วิศวกร สถาปนิก) และควรมีความรู้เกี่ยวกับการบัญชีและการสอบบัญชี ซึ่งได้รับจากการศึกษาในสถาบันการศึกษา และมีประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน ตลอดจนการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพ (Continuing Professional Development : CPD) นอกจากนั้นผู้สอบบัญชีควรมีทัศนคติและความคิดที่เป็นอิสระ
4. การรายงาน (Reporting) รายงานถือเป็นผลงานของผู้สอบบัญชี ซึ่งใช้สื่อสารผลลัพธ์ของการปฏิบัติงานให้กับผู้ใช้ข้อมูล รายงานของผู้สอบบัญชีแต่ละประเกทมีลักษณะแตกต่างกันไป ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะงานที่ปฏิบัติ และข้อสรุปจากการปฏิบัติงาน เช่น รายงานการตรวจสอบงบการเงิน รายงานการสอบทานงบการเงิน เป็นต้นรายงานของผู้สอบบัญชีควรแจ้งให้ผู้ใช้ข้อมูลทราบถึง ระดับของความสอดคล้องต้องกันของสารสนเทศที่ตรวจสอบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เช่น การตรวจสอบงบการเงินเป็นการตรวจสอบเพื่อแสดงความเห็นว่างบการเงินที่ตรวจสอบแสดงฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และกระแสเงินสดของกิจการโดยถูกต้องตามที่ควร
ในสาระสำคัญตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินหรือไม่ เป็นต้น คำนิยามของการสอบบัญชีดังกล่าวข้างต้น แสดงได้ดังภาพ : ซึ่งแสดงตัวอย่างของการตรวจสอบ