เรื่องเล่า ธุรกิจถั่วอบ เริ่มทำในสิ่งที่รัก ใส่ความรักในสิ่งที่ทำ ไสวเทรดดิ้ง
เบื้องหลังผลิตภัณฑ์อาหารที่เราเห็นกันอยู่ในท้องตลาดนั้น เกิดจากโรงงานเล็กๆหลายๆโรงที่ช่วยกันสนับสนุนวัตถุดิบชั้นเลิศ หลายๆคนอาจจะไม่รู้ว่า โรงงานเล็กๆที่มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์แค่กลุ่มเดียวนั้นมีอยู่มากมาย และหนึ่งในนั้นก็คือ หจก. ไสว เทรดดิ้ง โรงงานผลิตถั่วอบหลายประเภทเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรรม ซึ่งในวันนี้เราได้มีโอกาสมาพูดคุยกับน้องสาวคนเล็กแต่ใจไม่เล็กของตระกูลโป้บุญส่งกัน
“น้องแพรเป็นหมอ?”
“ไม่ใช่ค่ะ แพรมีโอกาสเข้าไปเรียนคณะแพทย์ แต่แพรเลือกที่จะไม่จบออกมาเป็นแพทย์ แพรมาค้นพบตัวเองตอนเรียนไปสามปีแล้วว่าตนเองไม่เหมาะกับด้านนี้ ไม่ชอบใช้ชีวิตแบบนี้ ถามตัวเองบ่อยมากว่าเรามาทำอะไรอยู่ในโรงเรียนแพทย์ เครียดมากถึงขั้นป่วยเป็นโรคซึมเศร้า แพรเลยมานั่งคิดทบทวนว่ามันใช่ทางของเรามั้ย คือแพรค่อนข้างรู้ตัวเองตั้งแต่แรกแล้วว่าแพรชอบค้าขาย แพรชอบพูด ชอบพบปะผู้คน ชอบการทำธุรกิจ ก็เลยปรึกษากับที่บ้าน ขอรับเพียงแค่วิทยาศาสตร์บัณฑิตซึ่งใช้เวลาเรียนเพียง 4 ปี ต่างกับเพื่อนๆที่จบแพทยศาสตร์บัณฑิตจะใช้เวลา 6 ปี หลังจากจบมาก็เข้ามาช่วยงานบริษัทคุณแม่เลย”
“แต่ที่บ้านไม่ได้ขายของแบบนั้นนี่นา”
“ใช่ค่ะ การขายสินค้าแบบ B2B (Business-to-Business) ต่างกับ B2C (Business-to-Customer)มากเลย พอลงมาทำจริงๆแล้วก็เลยรู้ว่ามันมีอะไรอีกหลายอย่างเลยที่เราต้องเรียนรู้”
“โรงงานนี้เริ่มต้นจากรุ่นคุณพ่อคุณแม่ใช่รึเปล่าคะ”
“จริงๆธุรกิจที่บ้านเริ่มมาจากรุ่นคุณตาค่ะ เดิมเป็นร้านซื้อมาขายไป ขายพวกเม็ดมะม่วงหิมพานต์, ผลไม้เชื่อม, ลูกเกดและทุเรียนกวน ส่งให้โรงงานเบเกอร์รี่และโรงแรม ต่อมาในรุ่นคุณแม่ คุณตาอยากให้ลูกสาวเรียนวิทยาศาสตร์การอาหาร เพราะเล็งเห็นว่าตลาดการผลิตอาหารมีโอกาสเติบโตไปได้อีก หลังจากคุณแม่แพรเรียนจบมา พอดีช่วงนั้นธุรกิจโดนัทและไอศกรีมแบรนด์ดังกำลังเริ่มเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย แล้วก็เลยเห็นช่องทางว่า เรื่องถั่วแปรรูปนี่มันมีกลุ่มลูกค้านะ แต่ยังไม่มีโรงงานที่สามารถรองรับได้เลย ทางโรงงานที่ต้องใช้ถั่วก็ลำบากหาของที่มีคุณภาพ ที่สามารถส่งปริมาณมากๆได้ อย่างพวกทำขนม ทำไอศกรีมนี่ใช้ถั่วเยอะมากเลยนะคะ คุณแม่ก็เลยปรึกษากันในครอบครัวแล้วสร้างโรงงานขึ้นมา ช่วงแรกเป็นโรงงานเล็กๆทำกันในบ้านเช่าพื้นที่ประมาณ 2 ห้องแถวย่านสุขุมวิท ต่อมาถึงเริ่มขยายมาสร้างเป็นโรงงานในปัจจุบันที่ลาดกระบัง
ช่วงแรกคุณพ่อแพรทำงานที่ฐานขุดเจาะน้ำมันควบคู่ไปด้วย แล้วก็คอยช่วยดูเรื่องเครื่องจักรและงานช่างต่างๆ ยังไม่ได้ลาออกมาทำเต็มตัว ต่อมาพอมียอดขายเพิ่มมากขึ้น คุณพ่อเลยออกลาออกมาช่วยเต็มตัวประจวบเหมาะกับการสร้างโรงงานแรกที่แถวสุขุมวิทพอดี เครื่องจักรทั้งหลายในโรงงานคุณพ่อก็เลยเป็นคนออกแบบและสร้างเองทั้งหมด”
“คุณพ่อเป็นคนสร้างเครื่องเองหมดเลยหรอ”
“ใช่เลยค่ะ ท่านเก่งมากเลยนะคะเพราะตอนเริ่มธุรกิจบ้านเรายังไม่มีเงินมากขนาดซื้อเครื่องจักรจากต่างประเทศ ตรงจุดนี้เองเป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของโรงงาน คือเครื่องจักรทั้งโรงงาน เครื่องอบ เครื่องบด เครื่องร่อนคัดขนาด ทุกเครื่องเลย พ่อเป็นคนสร้าง ไม่เหมือนใคร แล้วก็ตอบโจทย์การทำงานของเราได้ดีมากๆค่ะ แต่.. นอกจากคุณพ่อไม่มีใครซ่อมเป็นเลยค่ะ พ่อรู้ของพ่อคนเดียว แพรก็พยายามเรียนรู้อยู่นะคะ แต่ยากจริงๆ”
“น้องแพรมีพี่ชายใช่มั้ยคะ”
“พี่ชายแพรเป็นสายชิลเค้าไม่ค่อยถนัดการลุยหน้างานและการที่ต้องคอยติดต่อคุยงานกับลูกค้าค่ะ”
“งี้แพรก็เหมางานเองหมดเลย”
“ตอนนี้ก็พยายามอยู่ค่ะ ช่วงแรกแพรเริ่มจากเรียนรู้การคุมสายการผลิตก่อน คุณแม่ยังทำบัญชีและดูการตลาดให้ค่ะ ต่อมาแพรเริ่มเข้ามาดูแลตรงส่วนนี้ ทั้งจัดซื้อและฝ่ายขาย แล้วตอนนี้คุณแม่ก็เริ่มโยนงานด้านบัญชีมาให้ทำแล้วค่ะ”
“อะไรทำให้คุณพ่อคุณแม่ไว้ใจมอบหมายให้เราทำงาน?”
“คิดว่าพ่อกับแม่น่าจะอยากเกษียณแล้วไปเที่ยวแล้วหละค่ะ ก็เลยพร้อมใจโยนงานให้เรา และคงคิดว่าเราทำได้(มั้ง)ฮ่าๆ”
“คุณพ่อเป็นคนยังไง?”
“คุณพ่อแพรเป็นช่างที่เก่งมากมีความคิดสร้างสรรค์ในการดัดแปลงและสร้างเครื่องจักร เป็นขาลุยในการทำงาน พ่อคุมสายการผลิตในช่วงแรก แต่เค้าจะมีมุมมองค่อนข้างอนุรักษ์นิยม ด้วยสมัยที่เค้าสร้างโรงงานมาเค้าทำกันมาเองหมด ทำให้เค้ามีจุดยืนว่าสิ่งที่เค้าทำมามันโอเคที่สุดแล้ว อย่างพวกระบบงานและเอกสารต่างๆที่เราต้องทำเพื่อขอการรับรองนี่ช่วงแรกเค้าจะไม่เห็นด้วยมากๆเลย หลายอย่างเค้ามองว่าเป็นความลับของกิจการ คือเหมือนเมื่อก่อนระบบพวก GMP HACCP มันยังพัฒนาไม่ได้ที่ เป็นแค่อะไรที่เขียนขึ้นมาแบบครอบจักรวาล บางเรื่องก็ไม่ make sense บางเรื่องก็ทำไม่ได้ บางเรื่องก็ไร้สาระเกินความจำเป็น ทีนี้ก็เลยฝังหัวมาตลอด กลายเป็นพวก Anti-system คือไม่ค่อยยอมรับว่าระบบใดๆจะสามารถช่วยให้โรงงานดีขึ้นได้ เพราะเค้าเรียนมา สร้างมา ทำมากับมือ เค้ารู้ว่าอะไรดีไม่ดี
แต่ทีนี้ในปัจจุบัน การที่เราจะยืนอยู่ในตลาดการขายส่ง ลูกค้าทุกโรงงานเค้าต้องอาศัยใบรับรอง ระบบก่อน ก็เลยจำเป็นที่จะต้องมี แพรก็เลยทำมาตรฐานหมดนะคะทั้ง GMP HACCP ตอนนี้ผ่านมาตรฐานหมดเลย คุณพ่อก็ต้องค่อยๆปรับตัวไป”
“แล้วคุณแม่ล่ะ?”
“ตอนนี้คุณแม่เริ่มโยนความรับผิดชอบด้านบัญชีให้แล้ว ใช้คำว่าโยน คือให้มาหมดเลย อารมณ์บอกว่าจะไปเที่ยวแล้วหายไปเลย แล้วคือเพิ่งมาบอกแพรแบบบอกวันนี้พรุ่งนี้ไปแล้ว เอ๊ะ เดี๋ยวๆ นี่หนูต้องอยู่โรงงานคนเดียวใช่มั้ย all in one มากๆ ณ จุดนี้”
“นอกจากธุรกิจของที่บ้านแล้ว น้องแพรยังมี Passion อย่างอื่นอีกไหมคะ ชีวิตส่วนตัวเป็นอย่างไรบ้าง?”
“แพรก็ยังหางานอดิเรกอยู่นะ คือพอมาทำโรงงานแล้วก็รู้สึกว่าชีวิตอยู่แต่ในโรงงาน มีแต่งานกับงาน นี่ก็พยายามหาเวลาออกมาทำอย่างอื่นบ้าง อย่างไปเรียนเพิ่ม ไปออกกำลังกาย ไปเที่ยว one-day trip อะไรแบบนั้น ที่ชอบก็คงจะเป็นการตระเวนกินแก้เครียด คาวหวานได้หมดนัดมาเลยค่ะ ส่วนชีวิตส่วนตัวนี่ เหมือนถูกโรงงานดูดไปเกือบหมด เพื่อนก็นานๆเจอทีแล้วแต่ว่าง เหมือนยกเวลาให้โรงงานหมดเลย work life balance คืออะไรยังหาไม่ค่อยเจอเท่าไหร่ค่ะ”
“คิดว่าอะไรเป็นปัญหามากที่สุดในการรับช่วงกิจการ?”
“การสื่อสารกับพ่อแม่นี่ประเด็นหลักเลยค่ะ ยากกว่าคุยงานกับลูกค้าอีกค่ะ ต้องแล้วแต่อารมณ์เค้าและเรา ตัวแพรเองก็ค่อนข้างเป็นคนใจร้อนเวลาคุยกัน ก็ต้องหาจังหวะอารมณ์ดีๆค่อยคุยกัน แถมการคุยกันต้องมีแพลนเอแพลนบีแพลนซีเสมอ เพราะเค้ามีมุมมองไม่ตรงกับเราซะส่วนใหญ่ ยิ่งในโลกปัจจุบันทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วมากถ้าเราเอาแต่ย่ำอยู่กับที่คงหมุนตามโลกไม่ทัน ส่วนอื่นๆก็คงเหมือนโรงงานเล็กๆทุกโรง ต้องต่อสู้กับหน่วยงานราชการ ธนาคาร หน่วยงานสาธารณูปโภค ต่อสู้กับระบบ ต่อสู้กับคนที่จะมาเอาเปรียบเพราะเห็นว่าเราเล็กๆ และโรงงานอาหารเป็นอะไรที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน มีปัญหายิบย่อยมาให้แก้ทุกวัน เราก็ต้องตั้งสติให้ดีแล้วค่อยๆหาทางผ่านปัญหาให้ได้”
“มันทำให้เราเปลี่ยนไปมั้ย”
“เปลี่ยนมาก เมื่อก่อนจะเป็นผู้หญิงสายประนีประนอม อะไรไม่เหลือบ่ากว่าแรงก็ยอมๆหยวนๆไปบ้าง ตอนนี้เหรอคะ เป็นสายไฟต์แทนแล้วค่ะ ขอใช้คำว่ามีจุดยืนแล้วกัน คืออันไหนได้ไม่ได้เราคุยกันตรงๆด้วยเหตุและผล ถ้าคุณไม่เห็นด้วยไปหาเหตุผลมาหักล้าง หรือถ้าใครมามั่วอะไรนี่ เราเปิดกฎหมายเลย ข้อนี้ข้อนั้น งานที่เจอกับคนที่เจอ ทำให้เราต้องแกร่งขึ้น”
“เคยท้อมั้ย?”
“เคยค่ะ แพรเคยหนีไปอยู่บ้านญาติต่างจังหวัด เป็นอาทิตย์เลย คือไม่ไหวแล้วเครียดทั้งเรื่องงานทั้งเรื่องคน กะทิ้งทุกอย่างเหมือนเราทำดีแค่ไหนคนที่บ้านก็ไม่ยอมรับ อารมณ์ถอยไปตั้งหลัก”
“แล้วอะไรทำให้กลับมา?”
“คุณพ่อโทรไปตามค่ะ เพราะเค้ารู้แล้วว่างานมันเยอะและเรากดดันจากหลายๆด้าน เค้าก็ให้สิทธิ์ให้เสียงเรามากขึ้น ฟังเรามากขึ้น”
มาทางคุณแม่บ้าง วันก่อนเราได้มีโอกาสไปพูดคุยทักทายกับผู้เป็นตำนานของไสวเทรดดิ้ง ซึ่งพอเจอครั้งแรกแล้วก็ถึงบางอ้อ ว่าน้องแพรคนสวยนั้น ได้รับความแกร่งมาจากใคร
คุณบุญยา โป้บุญส่ง ศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (วทอ. 19) นายกสมาคมนิสิตเก่าคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เดินมาหาเราด้วยท่าทางมาดมั่น รอยยิ้มนั้นแสดงความอ่อนหวานและจริงจังในคราวเดียวกัน
“คุณแม่เลี้ยงน้องแพรมายังไงคะให้เก่งขนาดนี้?”
“ตอนเด็กๆก็สอนให้เค้าแกร่ง เราต้องไม่ใช้ผู้หญิงอ่อนแอ เราต้องสู้คนอื่นได้ เค้าก็เลยโตมาเป็นแบบนี้ และอาจจะมีส่วนทำให้อารมณ์ร้อนหน่อยด้วยด้วยมั้ง ฮ่าๆ”
“ทำไมถึงให้ลูกสาวรับโรงงานล่ะคะ มีแผนยังไงในอนาคต”
“ที่จริงก็จะให้เค้าช่วยกันทำแหละ ให้แบ่งกัน แต่ว่าพอเราเลี้ยงเค้ามาแบบนี้ อย่างเมื่อก่อนตอนเล็กๆเจ้านัท พี่ชายนี่เจออะไรจะขอให้น้องช่วยตลอด ส่วนเจ้าแพรนี่จะเป็นฝ่ายช่วยเหลือพี่เสมอๆ เราก็เลยรู้ไง ว่าเลี้ยงเค้ามาแบบนี้ ก็ต้องยอมรับเค้าที่เป็นแบบนี้ให้ได้”
“ตอนนี้ที่คุณแม่ยังไม่ปล่อยมือ แล้วลูกกำลังมารับงาน รู้สึกยังไงคะ อยากบอกอะไรเค้า?”
“เด็กสมัยนี้นะ เอะอะๆอะไรก็จะ renovate ก่อน มันไม่สวย มันไม่ดี โดยไม่ได้มองว่าปัญหาจริงๆมันเป็นยังไง มันเป็นแบบนี้อยู่เพราะอะไร เงินพอมั้ย หรือมีอะไรเร่งด่วนกว่า หรือไม่มีคนงาน หรือเหตุผลอื่น อยากจะให้ลูกๆทุกคนที่กำลังจะเข้ามารับงาน ช่วยนั่งนิ่งๆดูงานก่อน อย่าเพิ่งรีบร้อนทำอะไร เพราะจะติดทำอะไรไว คิดไวทำเร็วไปซะหมด”
“ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปมากด้วยมั้งคะ”
“ใช่ๆ ก็เลยกลายเป็นใจร้อน โดยไม่ได้ดูเหตุผลจริงๆว่ามันเป็นยังไง หลายๆคนที่พ่อแม่ยังไม่ปล่อยนะ ไม่ใช่ไม่อยากปล่อย แต่มันยังไม่ถึงเวลา แม่นี่ก็อยากให้เค้าทำจะแย่ละ แต่ก็ยังต้องใจเย็นๆ ค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆเรียนรู้งาน ให้หมด ครบถ้วนถ่องแท้เสียก่อน ค่อยเริ่มการเปลี่ยนแปลง”
“มีวิธีการสื่อสารระหว่างแม่ลูกยังไงคะ ไม่ให้ทะเลาะกัน?”
“เราเลี้ยงเค้ามานะ ทำไมจะไม่รู้ว่าเค้านิสัยยังไง ก็ต้องเข้าใจเค้า เข้าใจนิสัยเค้า ใจเย็นๆก่อนค่อยคุยกัน แม่ว่าเค้าก็รู้นิสัยแม่นะ ฮ่าๆ อาจจะมีกระทบกระทั่งบ้าง ทะเลาะกันบ้าง แต่สุดท้ายเราก็ครอบครัวเนอะ พยายามเข้าใจซึ่งกันและกัน เดี๋ยวก็เจอทางออกเองค่ะ
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ “ฉันนี่แหละลูกเถ้าแก่”
ข้อคิดและบทสรุปจากการสัมภาษณ์ทายาทธุรกิจ โดย พราวพร
Contact: บจก.ไสว เทรดดิ้ง
เบอร์โทร: 02-738-1400
FB: https://www.facebook.com/SawaiTradingLtd