Product Life Cycle ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ดังนี้
Product Life Cycle (PLC) หรือวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ หมายถึงการเจริญเติบโตของยอดขายและกำไรตั้งแต่ผลิตภัณฑ์นั้นเริ่มเข้าสู่ตลาดจนกระทั่งออกจากตลาดไป
1. ขั้นแนะนำ (Introduction Stage)
เป็นขั้นที่สินค้าหรือบริการของเราเพิ่งเริ่มเข้าสู่ท้องตลาด ซึ่งในขั้นตอนนี้สินค้าหรือบริการของเราจะยังไม่เป็นที่รู้จักของตลาดทำให้ยอดขายเติบโตช้า และจะยังไม่มีกำไร แต่เราจะมีค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมส่งเสริมทางการตลาดเพื่อทำให้ลูกค้าได้รู้จักกับสินค้าหรือบริการของเรามากขึ้น
2. ขั้นเจริญเติบโต (Growth Stage)
เมื่อมาถึงขั้นนี้หมายความว่าเราผ่าน introduction stage มาได้แล้ว สินค้าหรือบริการของเราเป็นที่รู้จักของลูกค้า ลูกค้าเกิดการยอมรับในตัวสินค้าหรือบริการอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดยอดขายสูงขึ้นและมีกำไรตามมา ขั้นนี้จะเรียกว่าเป็นขั้นกอบโกยก็ว่าได้เพราะเป็นช่วงที่ลูกค้าหรือผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าหรือบริการของเราสูงมาก และนี่เองก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เริ่มที่จะมีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้นด้วยเพราะความต้องการในตลาดมีมากกว่านั่นเอง
3. ขั้นเจริญเติบโตเต็มที่ (Maturity Stage)
ขั้นนี้เรียกอีกอย่างนึงว่า “ ขั้นอิ่มตัว ” ในขั้นตอนนี้เป็นช่วงที่สินค้าหรือบริการของเราอยู่ในจุดที่เรียกว่าเติบโตเต็มที่แล้ว ยอดขายและกำไรจะเพิ่มขึ้นสูงสุดและค่อยๆ ลดลง เนื่องจากมีคู่แข่งขันในตลาดเพิ่มมากขึ้นและลูกค้าบางรายก็หันไปลองสินค้าใหม่ สิ่งที่เราควรทำในขั้นตอนนี้ก็คือการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด (market share) เอาไว้ให้ได้มากที่สุด
4. ขั้นตกต่ำ (Decline Stage)
หรือจะเรียกว่า “ขั้นถดถอย” ก็ได้ เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่สินค้าหรือบริการได้รับความนิยมลดน้อยลง ส่งผลให้ยอดขายและกำไรลดลงตามไปด้วย ลูกค้าหันไปซื้อสินค้าทดแทน หรือหันไปซื้อสินค้าจากผู้ผลิตรายใหม่แทน เมื่อมาถึงจุดนี้มี 2 ทางให้เราเลือกคือถ้าไม่พัฒนาสินค้าหรือบริการของเราให้ดีขึ้นเหนือกว่าคู่แข่งและตอบโจทย์ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า เราก็ต้องเลิกผลิตสินค้าตัวนั้นแล้วผลิตสินค้าตัวใหม่ขึ้นมา
เมื่อเราเห็นแล้วว่า Product Life Cycle คืออะไร และประกอบไปด้วยขั้นไหนบ้าง ที่นี้เราก็จะสามารถที่จะวางกลยุทธ์ทางการตลาดให้เหมาะสมกับ product life cycle ในขั้นนั้นๆ ได้
ตัวอย่างเช่น ในขั้นของการเจริญเติบโต เมื่อสินค้าหรือบริการเป็นที่ต้องการของตลาดมาก สิ่งที่เราควรทำคือเพิ่มช่องทางในการจัดจำหน่าย เพิ่มรูปแบบใหม่ๆ ให้กับสินค้า อาทิเช่น การเพิ่มขนาดบรรจุ เพิ่มกลิ่น เพิ่มสี เพิ่มรสชาติ หรือจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่เปลี่ยน awareness (การรับรู้) มาเป็น preference (ความชอบ) ในตัวสินค้าแทน