“พ่อไว้ใจให้ผมกลับมารับช่วงต่อแล้ว และพ่อก็ไม่สบายด้วย
เพราะฉะนั้น ขอให้พ่อไว้ใจในการบริหารของผม ให้พักผ่อนให้เต็มที่ ผมจะทำงานแทนพ่อเอง”
คุณรุ่งโรจน์ นวกุล
บริษัท KOSC PLUS จำกัด
หจก.N.V.K. ENGINEERING AND CONSTRUCTION
บริษัท ดี พลัส เอ็นเตอร์ไพร์ซ จำกัด
วันที่นัดสัมภาษณ์รุ่นพี่ที่มหาวิทยาลัยสุดเท่ห์ขวัญใจสาวๆคนนี้ เรามาด้วยความสงสัยเต็มอกว่า ผู้ชายที่เรียนจบวิศวกรรมปิโตรเคมี มาอยู่ในธุรกิจให้บริการรถเกี่ยวข้าวได้อย่างไร วันนี้เลยต้องมาหาคำตอบจากผู้ชายที่เดินทางข้ามหลายจังหวัด นอกจากจะมาเพื่อให้สัมภาษณ์แล้ว ยังคงรักษาประเพณี รุ่นพี่เลี้ยงข้าวรุ่นน้องอีกด้วย ...
“พี่เต๋าจบแล้วทำงานอะไรคะ ไม่ได้ติดต่อกันนานเลย”
เรียนจบพี่ก็ไปสมัครเป็นเซลก่อน ตรงสายงานที่เรียนมา ตอนนั้นก็คิดว่าสามารถทำอาชีพนี้ได้ตลอดนะ ไปรอด แล้วก็ชอบอยู่ระดับหนึ่ง
“แล้วอะไรทำให้กลับบ้าน?” บ้านที่ว่านี่คือบ้านเกิด จังหวัดอุทัยธานี
พ่อป่วย ป่วยหนักเลย อาที่ทำธุรกิจร่วมกันกับพ่อนี่ก็ป่วยตามด้วยหลังจากนั้นไม่นาน พี่ก็เลยคิดว่าเราต้องกลับมาดูแลครอบครัวแล้วแหละ วัตถุประสงค์หลักคือ มาทำงานแทนพ่อ พ่อจะได้เลิกทำงานอยู่บ้านเฉยๆ
“เอ้า แล้วตอนกลับมารู้มั้ยว่าต้องทำอะไรบ้าง คือแบบ พี่เรียนปิโตรฯ คนละแนวเลย”
ไม่รู้เลย ฮ่าๆ ตอนนั้นกลับมาด้วยวัตถุประสงค์เดียว ที่เหลือคิดว่าไปมั่วเอา ปรากฏว่าอะไรรู้มั้ย คนที่บ้านเค้าเห็นว่าเรียนวิศวะฯมา เอ้า ก็ต้องซ่อมรถเป็นสิ ไหนๆ มาดูให้ลุงหน่อย ไอเราก็เรียนปิโตร เคยซ่อมรถซะที่ไหน ไปเจอแบบนี้ก็มึนเหมือนกัน
“แต่ตอนนี้ทำเป็นแล้ว เชี่ยวชาญด้วย ไปเรียนเพิ่มมาหรอคะ จะว่าประสบการณ์ก็คงยังไม่ใช่ทั้งหมดใช่มั้ย ?”
พี่ก็เริ่มเรียนใหม่ แต่ไม่ได้ไปลงเรียนที่ไหนนะ พ่อไม่สบายก็อยากอยู่บ้านดูแลพ่อ พออยู่บ้าน ก็เลือกรถคันที่เก่าสุดมาคันนึง แล้วก็รื้อออกมาหมดเลย รื้อทุกชิ้นส่วนเอามาวางเรียงกัน แล้วก็ทดลองประกอบ ดูว่าชิ้นไหนคืออะไร ทำหน้าที่อะไร นั่นคือพื้นฐาน
หลังจากนั้นก็เป็นประสบการณ์ละ เราต้องเข้าผู้ใหญ่ให้เป็นนะ พวกลุงๆที่ขับรถให้พ่ออย่างงี้ พอเราทำให้เค้าเชื่อใจได้ ทำให้เค้าเอ็นดูได้ เค้าก็จะค่อยๆสอนเราเอง
“ระบบการทำงานของพี่นี่เป็นยังไงนะคะ ลูกทีมต้องมีรถของตัวเองรึเปล่า?”
ของพี่นี่จะแบ่งเป็น 2 สายงานนะ หนึ่งคือพวกรถเกี่ยวข้าวไถนา สองคือพวกแม็คโคร ถมดิน ซึ่งทั้งสองส่วนนี่จะใช้คนขับชุดเดียวกัน หมายความว่าพี่มีคนขับแค่ครึ่งเดียวของปริมาณรถที่มี เพราะว่าฤดูทำนา กับฤดูถมดิน เป็นคนละเดือนกัน อย่างหน้าฝนก็ไปทำนา เกี่ยวข้าวไปตามฤดู พอแห้งก็ไปขุด ไปถมดินได้ รถ ทั้งหมดคุณพ่อพี่เป็นเจ้าของ โชคดีมากๆที่คุณพ่อผ่อนหมดแล้วทุกคัน ส่วนคนขับนี่ก็เป็นชาวบ้านธรรมดานี่แหละที่ขับรถเป็น ทีนี้พี่ก็จะมีสายงานเป็นจังหวัดๆ คือแต่ละพื้นที่ก็จะมีหัวหน้าหนึ่งคน หัวหน้านั้นก็จะทำหน้าที่รับงาน คุยกับเจ้าของที่ เจ้าของนา จัดคิว ใครจะให้เกี่ยววันไหน หรือไปขุดอะไรวันไหน แล้วก็จะกระจายงานให้คนขับอีกทีหนึ่ง ซึ่งคนขับก็จะได้เงินตามงานที่ตัวเองรับ ถ้าไม่รับงาน ก็ไม่ได้เงิน ไม่มีเงินเดือน
“อ่าว งี้เค้าก็ไม่รักษารถให้เราสิคะ”
รักษาสิ เพราะรถใครรถมัน แต่ละคนมีรถ 2 คัน คันที่ใช้งานนา และคันที่ใช้งานดิน รับผิดชอบไปเลย คือรถพวกนี้มันไม่ได้เหมือนรถเก๋งที่เราใช้ขับกันนะ มันจะเสียตลอด มีต้อง maintenance ตลอด ซึ่งคนขับเค้าจะเคยชินกับรถของเค้า คันนี้ต้องระวังตรงไหน เวลามีอาการนี้ต้องซ่อมยังไง แล้วเค้าก็จะบอกให้เราสั่งอะไหล่
เมื่อก่อนจุดนี้ก็เป็นที่วุ่นวายพอสมควรนะ พี่ก็เพิ่งจะมาลงระบบเข้าไปควบคุมนี่แหละ คือพี่ทำเป็นสต๊อกส่วนกลาง มีอันนี้อันนั้นกี่ชิ้น ทุกชิ้นมีสำรองตลอดเวลา ทุกคนสามารถเบิกได้ แต่ต้องบอกล่วงหน้า ฝ่ายสต๊อกก็ต้องเช็คของ อันไหนใกล้หมดก็เตรียมสั่ง ตอนนี้ก็เลยเริ่มสบายขึ้นละ จุดนี้คือสาเหตุที่พี่ลงไปรื้อรถทุกชิ้น เพราะจะทำให้พี่สามารถบอกได้หมดเลย ว่าถ้าเสียจุดนี้ ต้องใช้ชิ้นไหนๆบ้าง จำเป็นต้องเปลี่ยนจริงๆมั้ย บางชิ้นแค่ทำความสะอาด หยอดน้ำมันก็ใช้ได้แล้ว แต่คนขับเกิดโมเมอยากเปลี่ยน อันนี้พี่ก็ต้องเถียงได้
“แล้วคุณพ่อ ตอนนี้เป็นยังไงบ้างคะ ยังทำงานอยู่ไหม”
ไม่ทำละ เลิกเด็ดขาด ให้อยู่บ้านเฉยๆสบายๆเลยแหละ อาการป่วยตอนนี้ก็หายแล้วด้วย” แล้วก็ยิ้มกว้าง มันมีความน่าสงสัยอยู่ว่าทำได้ยังไง ปกติผู้ก่อตั้งนี่ ใช่ว่าบอกให้หยุดทำงานแล้วจะหยุดได้ ส่วนใหญ่อดไม่ได้ทั้งนั้น
“ทำไมมองพี่อย่างนั้น ฮ่าๆ หยุดจริงๆ ตอนแรกที่กลับมาเลย พี่ก็พูดกับพ่อชัดเจน ตั้งแต่แรก”
“ยังไงคะ”
พ่อไว้ใจให้ผมกลับมารับช่วงต่อแล้ว และพ่อก็ไม่สบายด้วย เพราะฉะนั้น ขอให้พ่อไว้ใจในการบริหารของผม ให้พักผ่อนให้เต็มที่ ผมจะทำงานแทนพ่อเอง พ่อไม่ต้องกังวล หากอันไหนผมไม่แน่ใจผมจะมาปรึกษา จะมารายงานมาเล่าให้ฟัง จะมาขอความคิดเห็น แต่อำนาจในการบริหาร ผมขอทำเองทั้งหมด
“แล้วพ่อก็ให้?”
“ใช่ ยกให้เลย”
“ว้าว” ร้องได้คำเดียวเลย พี่เรานี่เจ๋งเป็นบ้า แล้วทำรอดด้วยนะ ประเด็น
“แล้วคุณอาที่ทำร่วมกับคุณพ่อนี่ยังทำอยู่ไหมคะ”
ไม่แล้วล่ะ หลังจากพ่อป่วยก็ป่วยตามเลย พี่ก็บริหารคนเดียวตอนนี้ อาก็ช่วยดูแลอยู่ห่างๆ
“พี่มีพี่น้องมั้ยคะ เค้ากลับมาช่วยกันมั้ย”
มีพี่สาว แต่เค้าก็ผู้หญิงอ่ะ ไม่ถนัดงานแบบนี้หรอก ตอนนี้เลยไปเปิดร้านเสต็กให้ดูแลอยู่ จ.แพร่
“พี่มี Passion อะไรมั้ยคะ”
ชอบแต่งรถ อยากเปิดร้านขายของเกี่ยวกับพวกแต่งรถอะไรพวกนั้น แต่ว่าตอนนี้ต้องเก็บเงินก่อน
“อนาคต วางแผนยังไงต่อคะ นี่แค่ไม่กี่ปีดูเหมือนว่าธุรกิจที่จะลงตัวแล้ว”
ตอนนี้พี่กับแฟนทำอยู่ 4 ธุรกิจนะ มีของพ่อ ร้านเสต็ก แล้วก็พวกนำเข้าอีกสองตัว ตอนนี้ก็กำลังทดลอง กำลังเรียนรู้ ดูแนวโน้มตลาด ว่าอันไหนไปรอด อันไหนถูกจริตเรา อันไหนเราแฮปปี้ เราชอบ แล้วพี่สาวด้วย หลังจากนี้เราค่อยมาดู มาเลือกกัน พี่จะเลือกแค่อันเดียว ให้พี่สาวอันนึง...” ฟังแล้วก็แบบ...อ๊า~...อยากมีน้องชายแบบนี้บ้างจังงงงง
แล้วอาหารก็มา แล้วเราก็กิน แล้วรุ่นพี่ก็เลี้ยงรุ่นน้องตามธรรมเนียม...
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ “ฉันนี่แหละลูกเถ้าแก่” ข้อคิดและบทสรุปจากการสัมภาษณ์ทายาทธุรกิจ โดย พราวพร