รับส่วนลด 300 บาทสำหรับการซื้อครั้งแรก

เรื่องเล่า มุมมองและแนวคิด จากกลูกเจ้าของธุรกิจ

20 เมษายน 2564
เรื่องเล่า มุมมองและแนวคิด จากกลูกเจ้าของธุรกิจ
การจะทำอะไรให้ประสบความสำเร็จนั้น ต้องฝึกความช่างสังเกตเยอะๆ ต้องสังเกตทั้งภายในและภายนอก เพื่อค้นหาคุณค่าที่เป็นตัวเราจริงๆ และใช้คุณค่านั้น สร้างประโยชน์ให้ส่วนรวม” คุณแจ็ค (นามสมมติ)

เรื่องเล่า มุมมองและแนวคิด จากกลูกเจ้าของธุรกิจ

                ชายหนุ่มร่างสูงใหญ่นั่งยิ้มแป้นอยู่กลางร้านอาหารญี่ปุ่นที่เรานัดมาสัมภาษณ์กันในวันนี้ ด้วยท่าทางสบายๆ พร้อมกับภรรยาร่างเล็กสุดสวยที่ดูเข้ากันอย่างน่าประหลาดใจ หรือเพราะรอยยิ้มแบบนั้น รอยยิ้มที่ผ่านประสบการณ์ที่มากพอที่จะสะท้อนคุณค่าของการใช้ชีวิตออกมาทางสายตา

                ต้องขออนุญาตเล่าความเป็นมาของคุณแจ็ค (นามสมมติ) กันให้ฟังซักนิด เนื่องจากเรารู้จักกันมานานตั้งแต่สมัยยังตัวเล็กนิดเดียว พูดไม่ได้ศัพท์ จนมาถึงตอนนี้ตัวใหญ่เกือบจะเท่ากอริลล่า เรียกได้ว่าขนาดตัวนี่มาไกลเกินกว่าจะจินตนาการได้ ซึ่งพี่น้องสามใบเถาของคุณแจ็ค กับพี่น้องของเราก็วิ่งไล่จับกันมาตั้งแต่สมัยนั้น และยังมาพบปะสังสรรค์กันเป็นระยะๆ วันนี้เลยนัดกันมาคุยอัพเดทเรื่องราวต่างๆ ในช่วงชีวิตที่ผ่านมา

                ครอบครัวนี้น่าสนใจตรงที่ คุณพ่อมีหนึ่งธุรกิจ และคุณแม่มีอีกหนึ่งธุรกิจ ซึ่งเป็นองค์กรขนาดกลางและเป็นเอกเทศ ไม่เกี่ยวข้องกันเลยซักนิดเดียว ฝั่งหนึ่งทำรับเหมาก่อสร้าง อีกฝั่งหนึ่งทำโรงงานเฟอร์นิเจอร์ไม้สำเร็จรูป 

                มันมีความน่าสนใจอีกที่ว่าคุณแจ็ค ได้ผ่านประสบการณ์ทำงานกับทั้งสองฝั่ง แต่ตอนนี้กลับเลือกที่จะออกมาใช้ชีวิตเดินตามความฝันของตัวเองอย่างมุ่งมั่น 

 

คุณแจ็คช่วยเล่าเรื่องราวการทำงานให้เราฟังหน่อย

ผมเริ่มทำงานจริงๆ ตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก เดินเล่นเข้าไปในโรงงานเห็นพี่ๆ ช่างไม้เค้าตัดไม้กัน ก็ขอเข้าไปช่วยบ้าง  พี่ช่างสีทำสีกันก็อยากไปช่วยเค้าทาสีบ้าง เพราะดูแล้วน่าสนุก ก็เป็นแบบนี้เรื่อยมาจนเริ่มทำงานจริงจังตอนอายุ 19 ปี เป็นช่วงปี 2 ในรั้วมหาวิทยาลัย เริ่มจากการฝึกงานในฝ่ายบุคคล เรียนไปด้วยทำงานไปด้วยครับ”        

 

ตอนที่เป็นพนักงานฝ่ายบุคคล ทำหน้าที่อะไรบ้าง

ตอนที่เริ่มเข้าไปทำงานใหม่ๆ ด้วยความที่ประสบการณ์ยังน้อย เลยอาศัยการสังเกต ครูพักลักจำ ทำทุกอย่างให้มากที่สุด ฝึกทุกอย่างที่ผ่านมือผ่านตาเราเท่าที่จะมากได้ หน้าที่หลักคืองานบุคคล แต่สิ่งที่เราเรียนรู้ไม่ใช่แค่งานบุคคล เราเรียนรู้งานทุกอย่างตั้งแต่งานบริหารไปจนถึงฝ่ายผลิต ด้วยความที่เราเห็นคุณแม่ทำงานมาตั้งแต่เราเด็กๆ เราเห็นมาตลอดว่าไม่ว่าคุณแม่จะคุยกับทีมงานฝ่ายไหนก็จะมีวิธีการทำงาน การแก้ไขปัญหาให้กับทุกฝ่ายตลอด เราเลยรู้สึกว่า เก่งเรื่องใดเรื่องหนึ่งมันไม่เพียงพอในการเป็นผู้ประกอบการ เลยเรียนรู้ทุกอย่างที่ขวางหน้า ซึ่งก็เป็นแบบนี้อยู่ประมาณ 3 ปี หลังจากนั้นทางคุณแม่ก็ตั้งให้เป็น GM เหมือนเป็นการช่วยผลักให้เรารู้สึกว่าต้องเก่งขึ้นเร็วๆ

 

ความรู้สึกตอนที่เลื่อนจากพนักงานฝ่ายบุคคลเป็น GM เป็นอย่างไรบ้าง เหมือนหรือแตกต่างกันยังไง

ถ้าว่ากันด้วยเนื้องานของตำแหน่งงาน หน้าที่มันต่างกันอยู่แล้วล่ะ แต่ด้วยความที่เราทำมันทุกอย่างมาตั้งแต่สมัยเป็นฝ่ายบุคคลอยู่แล้ว พอมารับหน้าที่ GM เลยไม่ได้รู้สึกถึงความแตกต่างในเนื้องานที่ทำ แต่สิ่งที่สัมผัสได้ว่าต่างกันก็คือ ความรับผิดชอบที่เราแบกไว้บนบ่ามีมากขึ้น ทั้งเนื้องาน และทีมงานที่เราต้องดูแลด้วย

 

แปลว่าส่วนใหญ่คุณแจ็คจะให้ความสำคัญกับเรื่องของคนเป็นหลักใช่มั้ย

ใช่ครับ ผมเน้นเรื่องของคนเป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่ง ส่วนตัวรู้สึกว่าการจะทำอะไรก็ตาม แค่พลังของตัวเราเพียงคนเดียวมันไม่พอ เพราะเวลาเราของเรามีไม่พอ วันนึงเรามีเวลาแค่ 24 ชั่วโมง แต่ถ้าเราทำงานเป็นทีม สมมติมีทีม 10 คน ใน 1 วัน เราก็จะมีเวลา 240 ชั่วโมง ซึ่งมีพลังต่างกันมหาศาล เรื่องของคนเลยเป็นสิ่งที่ผมเน้นมากเป็นที่สุด ซึ่งหลังจากที่เราให้ความสำคัญของคนในองค์กรแล้วก็เริ่มมีความสนใจในเรื่องของคนนอกองค์กรโดยเฉพาะลูกค้าอยากรู้ว่าทำไมเค้าถึงชอบสินค้าเรา ทำไมชอบสีนี้ ทำไมถึงซื้อที่นี่ ทำไมซื้อหลายชิ้น และอีกมากมาย เลยเริ่มเข้ามาทำงานในภาพของการขายและการตลาดมากขึ้น ได้เจอทั้งลูกค้าที่เป็นห้างร้านและลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคตัวจริง ซึ่งการได้เข้าใจวิธีการตัดสินใจซื้อของลูกค้า เป็นอะไรที่เราชอบและสนุกมาก

 

แล้วจุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณแจ็คไปทำงานกับคุณพ่อคืออะไร

เริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันมันไม่ใช่ตัวเรา ในช่วงแรกๆ ก็สงสัยตัวเองเหมือนกันว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะถ้าถามว่าสิ่งที่ทำอยู่สนุกมั้ย ก็สนุกอยู่ แต่ถ้าลองถามว่าอยากทำงานนี้ไปตลอดชีวิตมั้ย มันก็เกิดความลังเลขึ้นมาในใจว่าอยากทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิตจริงๆ หรือเปล่า แล้วพอมีความคิดนี้เข้ามาก็เริ่มรู้สึกว่ายังมีอีกหลายอย่างในชีวิตที่อยากลองแต่ไม่ได้ลอง แต่ด้วยความเป็นทายาทธุรกิจ เราก็ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กว่า พอโตขึ้นมาต้องมาสานต่อธุรกิจครอบครัว เลยไม่เคยได้ลองคิดว่าจริงๆ แล้วตัวเองอยากจะทำอะไร พอได้ลองคิดเลยรู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่มันไม่ใช่ เลยตัดสินใจออกมาหาประสบการณ์ชีวิตข้างนอก โดยอยากเริ่มจากอาชีพที่เรารู้สึกว่าเป็นอาชีพที่เราไม่ถนัดที่สุดและเป็นอาชีพที่ไม่ถูกจริตที่สุด นั่นคือธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของคุณพ่อ ด้วยความคิดที่ว่าปกติจะเห็นแต่คนแนะนำให้เราทำงานที่เราชอบ เลยลองคิดกลับดูว่าจะเริ่มลองทำงานที่เราไม่ชอบดูบ้าง ซึ่งผลก็ออกมาก็เป็นไปตามคาด ไม่ถนัดจริงๆ และทำให้ช่วงที่ทำงานรับเหมานั้น เต็มไปด้วยความเครียดและความสงสัยตลอดเวลาว่า มาทำอะไรอยู่ที่นี่ แต่ตั้งเป้าไว้แล้วว่าอย่างน้อยโปรเจคท์ที่รับผิดชอบอยู่ต้องทำให้สำเร็จ แล้วจะเดินชีวิตไปทางไหนต่อค่อยว่ากันอีกที พอหลังที่โปรเจคท์เสร็จตามเป้าก็ขอแยกทางออกมา เพื่อออกเดินทางสร้างชีวิตของเราต่อ

 

แล้วหลังจากนั้นออกมาทำอะไรต่อ

ออกมาเทรดหุ้นครับ ได้ๆ เสียๆ ได้ๆ เสียๆ ผ่านไปซักพัก เงินต้นยังเท่าเดิม แต่ค่าใช้จ่ายต้องใช้ทุกเดือน 555 เลยเริ่มศึกษาอย่างจริงจังมากขึ้น ช่วงหลังจึงเริ่มที่จะพอทำกำไรได้บ้าง ถือว่าเป็นความคืบหน้าที่ดี แต่รู้สึกว่าชีวิตเฉาๆ เพราะนั่งอยู่แต่ในห้อง ไม่ได้พูดกับใคร นั่งจนน้ำลายบูด เลยเริ่มหาอย่างอื่นทำเพิ่มเติม

 

ทำอะไรเพิ่มเติม

เริ่มจากการสังเกตตัวเองมากขึ้นว่าตกลงแล้ว เราอยากทำอะไร แล้วเราถนัดอะไร แล้วก็เขียนทั้งหมดลงไปในกระดาษ แล้วก็ได้ข้อสรุปมาว่า ตัวเองชอบเล่าเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องราวที่เล่าแล้วช่วยให้ผู้ฟังฉุกคิดแล้วสามารถนำไปใช้ต่อได้ในชีวิตประจำวัน อาจจะเป็นเพราะสมัยวัยเด็กได้มีโอกาสทำพิธีกรอยู่บ่่อยๆ ในหลากหลายรูปแบบรายการ เลยส่งผลให้เป็นคนชอบเล่าเรื่อง บวกกับพูดภาษาญี่ปุ่นได้จากการไปเรียนที่ญี่ปุ่นสมัยเด็ก เส้นทางของสิ่งที่อยากทำเลยเริ่มชัดว่าอยากทำอะไรที่เกี่ยวกับการพัฒนาคนให้เป็นคนที่ดีขึ้นกว่าเมื่อวาน เลยตัดสินใจมาทำงานกับองค์กรญี่ปุ่นในด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคล

 

ตอนบอกพ่อกับแม่ว่าจะออกมาทำงานข้างนอก ทั้งสองท่านว่าอย่างไรบ้าง?

อื้อหือ บ้านแตก ตอนนั้นก็รู้นะว่าถ้าออกมาแบบนั้น คงไม่ได้รับการสนับสนุนแล้วก็ต้องอยู่ให้ได้ด้วยตัวเอง เลยก้าวออกมาพร้อมกับเงินเก็บนิดเดียว เพื่อเดินออกมาตามหาสิ่งที่เป็นตัวเราจริงๆ ส่วนธุรกิจที่บ้านยังมีน้องอีก 2 คนที่จะสานต่อเลยไม่เป็นห่วง

 

แล้วตอนน้องๆ เริ่มมาทำงานกับคุณแม่ ได้สอนอะไรน้องบ้างมั้ย?

ก็สอนอยู่ 2 อย่างนะ 

                1. ความช่างสังเกต ต้องสังเกตเยอะๆ สังเกตทั้งภายนอกและภายในตัวเอง ภายนอกก็อย่างเช่น คนรอบข้างเราทำอะไร คิดอะไร ทำไมต้องทำแบบนั้น ทั้งพนักงานในบริษัท เพื่อน พ่อแม่ และรวมไปถึงลูกค้าด้วย ทุกอย่างมีที่มาที่ไป มีเหตุมีผล ลองใช้เวลานิ่งๆ สังเกตซักพัก แล้วเราก็จะเริ่มเรียนรู้ลักษณะของคนที่แตกต่างกัน อย่างเคยเจอพนักงานรุ่นใหญ่ตอนทำงานรับเหมาก่อสร้าง ตอนแรกที่เราเข้ามานี่โดนแกลองของเยอะมาก ด้วยความที่เราอายุน้อยกว่าเยอะ แต่พอเวลาผ่านไปแล้วเราแสดงให้เค้าเห็นว่า เรามาเพื่อช่วยให้เค้าทำงานเสร็จง่ายขึ้น เร็วขึ้น แกก็เริ่มยอมรับ ทีนี้พอเราได้ใจเค้าแล้ว เค้าดันเราเลย ถึงกับขั้นมานั่งเล่า นั่งอธิบายความรู้ประสบการณ์ที่เค้าสั่งสมมาให้ฟังอย่างละเอียด แทบจะยัดความรู้ให้เราเลยล่ะ ส่วนในเรื่องงานจะยาก ท้าทายแค่ไหน เค้าก็พร้อมลุยไปพร้อมกับเรา เลยเน้นให้น้องๆ ฟังเสมอว่าเราต้องรู้จักลักษณะที่แตกต่างของคน บางคนก็ชอบทำงานแบบเน้นผลลัพธ์ วิธีการอย่ายุ่ง เดี๋ยวจัดการให้ หรือบางคนชอบให้ลงในรายละเอียดให้ด้วย เราก็ต้องรู้จักตัวตนของทีมงานของเรา แล้วพร้อมที่จะลุยไปพร้อมกับพวกเค้าด้วย

                ส่วนการสังเกตภายในนี่ก็ศึกษาตัวเอง เวลาที่เราอยู่ในสถานการณ์แบบไหนเรารู้สึกยังไงคิดยังไง ยิ่งรู้จักตัวเองมากเท่าไหร่ ยิ่งเข้าใจคนอื่นได้มากขึ้นเท่านั้น

                2. การหา identity ของตัวเองให้เจอ เราเน้นน้องๆ มากว่า identity คือแก่นของชีวิตเรา ถ้าไม่รู้แก่นของตัวเรา เราจะหลงทาง หาเป้าหมายในชีวิตไม่เจอ แล้วจะกลายเป็นคนทำงานไปวันๆ เช้าชามเย็นชาม หรือเข้าใจผิดคิดว่า เงิน คือเป้าหมายในชีวิต ทั้งที่จริงๆ แล้วมันคือเครื่องมือช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายในชีวิตได้เร็วขึ้นต่างหาก เลยเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องหาตัวเองให้เจอ ยิ่งเจอเร็วยิ่งดี ชีวิตจะมีความชัดเจนและสงบมากขึ้น ส่วนกระบวนการหา identity ของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ต้องลองไปสังเกตตัวเองดูอย่างที่บอกไปตอนต้น

                อ้อ แล้วก็ก่อนที่จะปฏิเสธอะไร ให้ลองทุกอย่างก่อน ให้เวลากับมันซักพัก แล้วเราจะรู้เองว่ามันใช่หรือไม่ใช่

 

ตอนที่ยังทำธุรกิจกับที่บ้าน มีอะไรที่คิดว่าเป็นปัญหาในการเข้ามาทำธุรกิจของพ่อแม่มั้ย?

ผมว่าเรื่องการปรับตัวเปลี่ยนแปลง เป็นหนึ่งในปัญหาต้นๆ ครับ เห็นเพื่อนๆ พูดถึงประเด็นนี้เยอะครับ ตอนเด็กๆ พ่อแม่มักจะส่งเราไปเรียนต่างประเทศเพื่อไปดูว่าที่ต่างประเทศเค้ามีวิธีการทำธุรกิจยังไง อะไรที่ดีก็นำมาปรับใช้กับธุรกิจที่บ้าน แต่พอกลับมาสานต่อที่บ้าน ส่วนใหญ่จะเจอเรื่องพ่อแม่ไม่ยอมเปลี่ยนวิธีการทำงาน แม้ว่าเราจะมีประสบการณ์หรือข้อมูลมาให้เค้าดูก็ตาม ด้วยเหตุผลว่า ทำมาแบบนี้มาหลายสิบปีก็รอดมาได้ ก็ต้องทำแบบนี้ต่อไปถึงจะอยู่รอด เป็นเรื่องของวิธีคิดที่ต่างกันของคนต่างยุค ไม่ได้เป็นเรื่องที่ถูกหรือผิด แต่เป็นเรื่องปัญหาที่ทายาทธุรกิจหลายๆ คนประสบพบเจอ

 

แล้วต้องทำอย่างไร

ผมว่าต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ อาจจะนานหน่อย แต่ผมว่ายั่งยืน ซึ่งในระหว่างนั้นให้เราโฟกัสในสิ่งที่เราทำในทุกๆ วันดีกว่าครับ เพราะมันคือสิ่งเดียวที่เราควบคุมได้ ทำสิ่งตรงหน้าให้ดีที่สุด แล้วผมเชื่อว่าเมื่อเราใช้เวลากับสิ่งที่เราทุ่มแรงกายแรงใจไปมากพอ ถึงแม้จะเจอปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความแตกต่างระหว่างวัยและความคิดของสมาชิกครอบครัวนักธุรกิจ ยอดขายบริษัทตก ไปจนถึงยางรถแตก สุดท้ายในตอนจบของทุกเรื่องราว ธรรมชาติก็จะมีวิธีหาความสมดุลให้กับทุกเรื่องได้อยู่ดี

 

อยากจะฝากอะไรถึงผู้อ่าน

อยากให้ทุกท่านลองกลับมานั่งสังเกตดูว่า ตอนนี้เรากำลังใช้ชีวิตที่เราอยากใช้อยู่หรือเปล่า ถ้าพรุ่งนี้เราต้องตาย เราจะยังทำสิ่งที่เราทำในวันนี้อยู่หรือไม่ ชีวิตเราสั้นเกินกว่าจะมัวแต่ทำสิ่งที่ไม่สำคัญ จงค้นหา identity ของตัวเองให้เจอ และใช้ identity นั้นในการสร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวมต่อไปครับ

………………………..

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ ฉันนี่แหละลูกเถ้าแก่” 

ข้อคิดและบทสรุปจากการสัมภาษณ์ทายาทธุรกิจ โดย พราวพร


บทความที่คล้ายกัน