วิธีการวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนธุรกิจ ทำอย่างไร
มีคนกล่าวไว้ว่า ชีวิตคนเราเป็นเหมือนเหรียญที่มีสองด้าน อันหมายถึง คนเราก็มีข้อดีและข้อเสียด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้น การทำธุรกิจก็เช่นกัน หากเราสามารถวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน ของบริษัทหรือธุรกิจของเราได้นั้นย่อมเป็นหนทางให้เราดำเนินธุรกิจได้สำเร็จ สามารถรับมือกับโอกาสและอุปสรรคที่เข้ามาในอนาคต วิธีที่ดีและง่ายในการ วิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน ของธุรกิจ ก็คือ การวิเคราะห์ SWOT เรามาดูกันว่า การวิเคราะห์ SWOT จะช่วยทำให้เราสามารถวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนของธุรกิจของเราได้อย่างไร
SWOT คือการทำความเข้าใจกับธุรกิจของตัวเองด้วยการวิเคราะห์ ปัจจัยที่ส่งผลในทางบวกและลบกับธุรกิจ SWOT เป็นตัวย่อจาก 4 ตัวอักษรแรกของคำว่า Strengths Weaknesses Opportunities และ Threats ซึ่งเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ที่เรียบง่าย และมีประสิทธิภาพในการทำความเข้าใจและพัฒนากลยุทธ์ของบริษัท
การวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนของธุรกิจเบื้องต้น
การที่จะวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อนของธุรกิจหรือบริษัทของเรา จะต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้กับคำว่า จุดแข็ง (Strength) และจุดอ่อน (Weakness) ซึ่งตามหลักการของการวิเคราะห์ SWOT เราเรียกการวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนว่าเป็นการวิเคราะห์ปัจจัยภายใน SW
จุดแข็งและจุดอ่อนคืออะไร ?
จุดแข็ง (Strength) คือปัจจัยภายในที่กำหนดความแข็งแกร่งและความสำเร็จของธุรกิจ เช่น พนักงาน ผลิตภัณฑ์ และบริการ เราสามารถวิเคราะห์ว่าเรามีจุดแข็งในเรื่องอะไร ได้จากตัวอย่างคำถาม เช่น เราทำอะไรได้ดีที่สุด? สิ่งที่เราทำได้ดีกว่าคู่แข่งคืออะไร? ลูกค้าของเราชอบอะไรเกี่ยวกับธุรกิจของเรา? หากสามารถหาคำตอบเหล่านี้ได้ทุกข้อย่อมทำให้เรารับรู้และวิเคราะห์ได้ว่าจุดแข็งของเราคือสิ่งใด
จุดอ่อน (Weakness) คือปัจจัยที่ส่งผลกระทบทางลบต่อธุรกิจ อันหมายถึงข้อเสียหรือข้อจำกัดของเรา ตัวอย่างคำถามเพื่อการวิเคราะห์จุดอ่อน เช่น เรามีอะไรที่ไม่ดี ที่ต้องปรับปรุง? คู่แข่งทำอะไรได้ดีกว่าเรา? ทำไมลูกค้าของเราถึงไม่พอใจกับสินค้าและบริการของเรา? เราสามารถปรับปรุงแก้ไขอะไรได้บ้าง?
การวิเคราะห์ปัจจัยภายใน SW ต้องคำนึงถึงอะไร ?
การวิเคราะห์ปัจจัยภายใน SW เป็นการพิจารณา จุดแข็ง และ จุดอ่อน โดยต้องคำนึงถึงปัจจัยภายในของธุรกิจทางด้าน 4P ได้แก่ สินค้า ราคา ช่องทางจัดจำหน่าย และ โปรโมชั่น รวมทั้งพิจารณาความสามารถในการแข่งขันของบุคลากร ระบบงานบัญชี และระบบการจัดการภายในต่างๆ
ดังนั้น การวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนนั้นไม่มีวิธีการวัดที่ชัดเจนว่าเราทำได้ดีเพียงใด ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความสามารถในการสังเกตและตระหนักถึงปัจจัยภายในที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจของเรา เราสามารถเรียกสมาชิกในบริษัทหรือทีมงานที่ทำงานอยู่ในธุรกิจของเรา มานั่งระดมสมองด้วยกัน ให้ทุกคนช่วยกันวิเคราะห์หาจุดแข็งและจุดอ่อนของธุรกิจของเรา เมื่อรวบรวมความคิดทั้งหมดแล้ว เราลองนำมาเรียบเรียง และจัดลำดับความสำคัญเพื่อวางแผนกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนธุรกิจ ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ค่อนข้างง่าย เพราะเราจะเห็นถึงข้อดีและข้อเสียต่างๆ ได้อย่างชัดเจน เราจะพบแสงสว่างที่ปลายถ้ำในการพัฒนาธุรกิจของเราให้สำเร็จและยั่งยืนได้มากกว่าเดิมแน่นอน